นักเศรษฐศาสตร์ประเมิน ‘วิกฤตราคาน้ำมัน-อาหารโลก’ ระลอกใหม่อาจเกิดขึ้น หากสงครามขยายวงกว้าง
นักเศรษฐศาสตร์ประเมิน ‘วิกฤตราคาน้ำมัน-อาหารโลก’ ระลอกใหม่อาจเกิดขึ้นหากสงครามขยายวงกว้าง และปูตินเลือกใช้ราคาอาหาร และราคาพลังงานเป็นอาวุธตอบโต้ เสนอมาตรการเชิงรุกรับมือความท้าทายจากสงครามคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและสงครามยุโรป
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงความเห็นถึงผลกระทบของพัฒนาการล่าสุดของสงครามยูเครนและระบอบปูตินรัสเซีย ว่า จะเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและการขาดแคลนอาหารโลกระลอกใหม่ได้หากมีการขยายวงของสงครามระบอบปูตินรัสเซีย เป็น สงครามยุโรป ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่คู่ความขัดแย้งในสงครามยูเครนจะเปิดการเจรจาสันติภาพ ข้อเสนอ 12 ของจีนเพื่อยุติสงครามและสร้างสันติภาพเป็นข้อเสนอที่ดีแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซีย ในนาโต้ ในสหรัฐอเมริกา อันนำสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสงครามในยูเครน หากจีนยังรักษาท่าทีโดยไม่แสดงการสนับสนุนรัสเซียอย่างแจ้งชัด สงครามจะยังไม่ลุกลาม วิกฤตการณ์ราคาพลังงานในยุโรปบรรเทาลงบ้างจากแหล่งพลังงานจากนอร์เวย์ สหรัฐอเมริกาและการ์ตาชดเชยพลังงานจากรัสเซีย การลดกำลังการผลิตและลดการส่งออกจึงไม่มีผลต่อยุโรปมากนัก การเปิดประเทศของจีน ทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาราคาพลังงานเพิ่มสูงรอบใหม่ได้ แต่ระดับราคาน้ำมันดิบ (Crude Oil) ไม่น่าจะกลับไปอยู่ในระดับราคาน้ำมันดิบ (Crude Oil) 110-117 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้เช่นในช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
การที่ระบอบปูตินรัสเซียใช้กองกำลังทหารบุกยึดคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) และ ผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แทบไม่มีการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ยึดครอง และ ขั้วอำนาจตะวันตกก็ไม่เข้ามาแทรกแซงต่อกรณีดังกล่าว การรุกรานของรัสเซียเมื่อหนึ่งปีที่ผ่าน สถานการณ์ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง กองทัพและประชาชนยูเครนออกมาต่อต้านกองทัพรัสเซียอย่างกล้าหาญและเข้มแข็ง สมาชิกนาโต้และรัฐเพื่อนบ้านยูเครนล้วนมอง ระบอบปูตินรัสเซีย ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สันติภาพและเสถียรภาพของทวีปยุโรป โดยชาติตะวันตกมีแนวโน้มเพิ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อระบอบปูตินรัสเซียเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศรัสเซีย ขณะเดียวกัน ระบอบปูตินรัสเซียจะตอบโต้กลับ อาจสร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกในอนาคตได้ รัฐไทยจึงควรมีมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือความท้าทายจากสงครามคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ผลของสงครามจากรัสเซียในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อยูเครน ทำให้จีดีพียูเครนติดลบ -35% ไอเอ็มเอฟประเมินหดตัวประมาณ 30% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 26-27% ประชาชนอยูใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้น 60% จากระดับเพียง 18% ก่อนสงครามรุกรานปะทุขึ้น ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของยูเครนไม่ต่ำกว่า 1.38 แสนล้านดอลลาร์ การฟื้นฟูก่อสร้างขึ้นมาใหม่อาจใช้เงินสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลยูเครนต้องทำงบประมาณขาดดุลสูงถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ไอเอ็มเอฟเผยระบบเศรษฐกิจยูเครนยังเดินหน้าได้ท่ามกลางความเสียหายและความท้าทาย สะท้อนความเข้มแข็งและการไม่ยอมแพ้ของชาวยูเครน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าเมื่อปีที่แล้ว วิกฤตการณ์อาหารโลกอันเป็นผลจากสงครามยูเครนและภัยแล้ง ทำให้ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร สถานการณ์ปีนี้ดีขึ้นบ้าง บางประเทศยกเลิกมาตรการระงับส่งออกอาหารไปแล้ว การจำกัดและระงับการส่งออกอาหารในประเทศต่างๆกว่า 30 ประเทศเมื่อปีที่แล้วเป็นการแก้ปัญหาภายในประเทศตัวเองแต่ทำให้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการแก้ปัญหาสูงขึ้นและไม่เกิดประสิทธิภาพ สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน มองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน ส่วนการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้การซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียทำได้ยาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะทำให้ทั่วโลกหันไปพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย เพื่อบรรเทาปัญหาดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ อาจไม่ได้ทำให้ ราคาอาหารพุ่งขึ้นไปมากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากได้มีการสร้างกลไกให้มีการส่งออกธัญพืชออกจากยูเครนได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามยืดเยื้อในยูเครนทำให้พื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากได้รับความเสียหาย และ ยังไม่อยู่ในภาวะที่เข้าฟื้นฟูได้ในหลายพื้นที่เพราะยังมีการต่อสู้กันอยู่ ภาวะดังกล่าวทำให้สมาชิกอียูบางประเทศ รวมทั้ง สหราชอาณาจักร เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารจากภัยแล้งแหล่งผลิตอาหารนำเข้าสำคัญของอังกฤษและผลกระทบสงครามยูเครน จนกระทั่งต้องมีโควต้าในการซื้ออาหารตามซูเปอร์มาร์เก็ตและมีมาตรการปันส่วนอาหารกันแล้ว ปัญหาการขาดแคลนอาหารในยุโรปส่งผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารส่งออกของไทย อินเดียก็ต้องระงับการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และ ป้องกันไม่ให้ราคาภายในปรับตัวสูงเกินไป และ อินเดียมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารและพืชผลทางการเกษตรเพิ่มเติม มาตรการห้ามส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของหลายประเทศที่ส่วนใหญ่สิ้นสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว อาจมีการกลับเอามาใช้ใหม่อีกหากสถานการณ์วิกฤติอาหารกลับมา บางประเทศได้ยืดระยะเวลาการสิ้นสุดของมาตรการออกไป วิกฤตการณ์อาหารอาจเพิ่มความถี่และความรุนแรงมากขึ้นเป็นระยะๆจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เทคโนโลยีทำให้ผลิตผลต่อไร่และผลิตภาพในอุตสาหกรรมอาหารดีขึ้นอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วต้องบริโภคอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าเพื่อแบ่งปันอาหารและสินค้าเกษตรให้กับประชากร 193 ล้านคนใน 53 ประเทศที่เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร ในจำนวน 193 ล้านคนนี้ มีอยู่ประมาณ 40 ล้านคนที่เกิดภาวะไม่มั่นคงในการเข้าถึงแหล่งอาหารแบบเฉียบพลันจากภาวะสงครามในยูเครน
แม้นดัชนีราคาอาหารโลกยังทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุดเดือนมีนาคมปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 159.7 ล่าสุด ดัชนีราคาอาหารโลกลงมากว่า 17% จากระดับสูงสุด FAO food Price Index เดือนมกราคมปี พ.ศ. 2566 ลงมาอยู่ที่ 131.2 ปรับลงมาจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว 0.8% แต่ก็ยังถือว่า ระดับดัชนีราคาอาหารโลกยังสูง เพราะดัชนีนี้เคยอยู่ที่ระดับ 67.4 ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่พืชผลเกษตรกรรมและปศุสัตว์มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีภัยพิบัติธรรมชาติและสงครามใหญ่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาอาหารโลกและราคาพลังงานโลกอาจพลิกกลับได้ตลอดเวลา หากสงครามขยายวง และ ระบอบปูตินรัสเซียเลือกใช้ ราคาอาหาร และ ราคาพลังงานเป็นอาวุธตอบโต้ ด้วยการปิดกั้นการขนส่งธัญพืชส่งออกจากยูเครนและพื้นที่โดยรอบ คว่ำบาตรชาติตะวันตกด้วยการไม่ส่งออกน้ำมันหรือลดกำลังการผลิตพลังงาน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อปีที่แล้วอาจดำเนินต่อไปหากสงครามขยายวงและยืดเยื้อต่อ สงครามยูเครนทำให้ ผู้คนทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 139-140 ล้านคนใน 24 ประเทศเกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน 24 ประเทศล้วนเป็นประเทศยากจนด้อยพัฒนาในแอฟริกา ละตินอเมริกา แต่ปีนี้ ปัญหาจะลุกลามมาที่ประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปมากขึ้น ปัญหาวิกฤติอาหารและวิกฤติพลังงานมีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกระดับหลายพันล้านคน แม้นไม่มีสงครามยูเครน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องระยะยาว ภัยแล้ง และ อุทกภัยครั้งใหญ่จะทำลายพื้นที่ทางการเกษตรเป็นระยะๆอยู่แล้ว ภาวะดังกล่าวยังกดดันให้ประเทศต่างๆแสวงหาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากขึ้น ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานจึงมีความสำคัญมากต่อหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรและต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ
การระงับส่งออกอาหารและกักตุนอาหารจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรกรรมหรือกิจการพลังงานจึงต้องดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์และความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ การเปิดเสรีทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าอาหารจะชะงักงันไประยะหนึ่ง สถานการณณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงกลางปี พ.ศ. 2567 และดัชนีราคาอาหารโลกไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับต่ำกว่า 100 เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 วิกฤติความมั่นคงทางอาหารครั้งนี้ต่างจากวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งวิกฤติคราวนั้นเป็นผลจากภัยแล้งรุนแรง และ การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตรที่กระจุกตัวในประเทศหลักๆไม่กี่ประเทศ สำหรับคราวนี้ สงครามยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะยูเครนพื้นที่สงครามเป็นแหล่งผลิตธัญพืชส่งออกหลายตัว การผลิตการเก็บเกี่ยวยังมีความยากลำบาก กว่าจะทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตามปรกติคงต้องใช้เวลาอีกนานมากทีเดียว ข้อตกลงอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชและปุ๋ยผ่านทะเลดำเพื่อบรรเทาความไม่มั่นคงด้านอาหารโลกของรัสเซียกับสหประชาชาติจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มีนาคม ปีนี้ หากไม่มีการขยายเวลาออกไปอีกจะกระทบต่อการขาดแคลนอาหารและปุ๋ยทั่วโลกรอบใหม่ได้